เกี่ยวกับโครงการ
สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
สำหรับประเทศไทย กัญชงมีความสำคัญต่อการพัฒนายกระดับอุตสาหกรรม S-Curve และ New S-Curve ในฐานะที่เป็นพืชเศรษฐกิจที่จะมีบทบาทในการพัฒนาเป็นสินค้าอุตสาหกรรมที่มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศในอนาคตอันใกล้นี้ ซึ่งภาคเอกชนไทยมีความต้องการใช้กัญชงเป็นวัตถุดิบในการสร้างมูลค่าเพิ่มในระดับอุตสาหกรรมมานานแล้ว ในขณะที่ภาคการเกษตรก็ต้องการปลูกพืชกัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ทดแทนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และพืชมูลค่าต่ำอื่น ๆ รวมถึงปัจจุบันกฎหมายกำลังเปิดกว้างเพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถลงทุนพัฒนาผลิตภัณฑ์จากกัญชงออกสู่ตลาดในเชิงพาณิชย์ได้หลากหลายและคล่องตัวมากขึ้น
ที่ผ่านมาสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) มีองค์ความรู้ประสบการณ์ ในการศึกษาและพัฒนาพืชกัญชงมาไม่น้อยกว่า 9 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 – ปัจจุบัน โดยการร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (สวพส) และการสนับสนุนงบประมาณจากหลายหน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาค 1 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยประสบการณ์ครอบคลุมทั้งด้านสถานการณ์การตลาด การผลิต กฎหมายที่เกี่ยวข้อง แนวทางการใช้ประโยชน์จากส่วนต่าง ๆ ของกัญชง การพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์ที่มีความสอดคล้องกับกระบวนการผลิตในระดับอุตสาหกรรมของภาคเอกชนไทยการขยายขนาดการผลิต (Scaleup) ไปสู่ระดับอุตสาหกรรม คลัสเตอร์กัญชง 5 คลัสเตอร์ การบริหารจัดการซัพพลายเชน และการศึกษาวิเคราะห์ความเป็นไปได้ทางธุรกิจในการต่อยอดผลิตภัณฑ์สู่เชิงพาณิชย์ สำหรับการลงทุนในระดับกลางน้ำจนถึงปลายน้ำ รวมถึง การเชื่อมโยงให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีการแปรรูปกัญชง จากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้าน ในสาขาต่างๆ เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการไทยให้สามารถยกระดับเทคโนโลยีในระดับกลางน้ำ เพื่อให้ได้วัตถุดิบเข้าสู่อุตสาหกรรมปลายน้ำในสาขาต่างๆ ซึ่งจะเป็นส่วนแก้โจทย์ที่สำคัญให้กับภาคอุตสาหกรรมกัญชงของประเทศไทย และตอบสนองการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) ตามนโยบายประเทศไทย 4.0
ดู 1234 ครั้ง I แชร์ 123 ครั้ง